ความแตกต่างระหว่างคลัสเตอร์กับกริด

สืบเนื่องจากคุณ​ 0xffeeddaa ได้ตั้งคำถามว่าคลัสเตอร์กับกริดต่างกันอย่างไร โดยคำถามนี้ปรากฏในข่าวที่ผมลงในเว็บ Blognone ชื่อหัวข้อ TCG@NUS: ตัวอย่างกริดในรั้วมหาลัย ผมจึงตอบเป็น comment ไว้ในข่าวดังกล่าว และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปสำหรับผู้ที่มีคำถามนี้ ผมขออนุญาติคัดลอก comment ของผมมาแปะไว้ในที่นี้

ในฝั่งวิชาการมันก็ต่างกันอยู่ครับ คลัสเตอร์ (Cluster) คือกลุ่มของคอมพิวเตอร์ที่กระจุกตัวรวมกันบนเครือข่ายหนึ่งๆ (โดยส่วนใหญ่อยู่บนเครือข่ายวงเดียวกัน) แล้วก็แชร์ทรัพยากรร่วมกัน (เช่น CPU และ storage) โดยมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยบริหารและเชื่อมต่อให้เกิดเครือข่าย Cluster ดังกล่าว ดังนั้น เราสามารถนำ Cluster ไปประมวลผลร่วมกันในงานเดียวกันแบบขนาน หรืออาจจะเอางานหลายๆงานซึ่งเป็นอิสระจากกัน ส่งไปประมวลผลบน Cluster ก็ได้

ถ้าเป็นกริด (Grid) ตามอุดมคติที่ Globus หรือตามที่ Ian Foster เจ้าพ่อ Grid เคยกล่าวไว้ มองว่าเป็นการเชื่อมทรัพยากรคอมพิวเตอร์ระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่มีนโยบายแตกต่างกัน หรือเป็นคนละองค์กรกันไปเลย โดย Grid จะทำให้เชื่อมความหลากหลายของทรัพยากรและนโยบายให้เป็นหน่วยเดียวกันได้ ก็กลายเป็นกลุ่มกลุ่มเดียวเสมือนเป็นองค์กรเดียวกัน และจากนั้น เราจะนำงานไปประมวลผลแบบขนานหรือเอางานเดี่ยวๆหลายๆงานไปประมวลผล ก็สามารถทำได้เช่นกันเหมือนกับ Cluster

หากมองในฝั่งธุรกิจ คำศัพท์ Grid กับ Cluster มันกำกวมครับ (ซึ่งไม่ใช่ Cloud Computing เท่านั้นที่กำกวม) โดยบริษัทหลายเจ้า (แม้กระทั่ง IBM, Oracle, และ Sun) มองว่า Grid กับ Cluster มันก็เรื่องเดียวกันแหละครับ คือเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์หรือรวมทรัพยากรคอมพิวเตอร์เข้าหากัน แล้วร่วมกันประมวลผลหรือแก้ไขปัญหา

ถ้า IBM เขาจะบอกว่า Grid คือ การพัฒนาโปรแกรมให้เป็นหน่วยย่อยๆที่สามารถกระจายการประมวลผลไปให้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องได้ (ซึ่ง Cluster ก็เป็นงั้น) ส่วนทาง Sun บอกว่า Grid แบ่งออกเป็น Cluster Grid, Campus Grid, และ Global Grid ถ้ามองง่ายๆก็คือไล่ตั้งแต่ระดับแลนของหน่วยงานหนึ่งๆ(Cluster Grid), Campus Grid แลนหรือแวนของสถาบันเดียวกัน (ระดับองค์กร), จนกระทั่ง Global Grid หรือระดับแวนระหว่างองค์กร

3 thoughts on “ความแตกต่างระหว่างคลัสเตอร์กับกริด

  1. ผู้สนใจ says:

    ขอบคุณครับ อ่านแล้วยังงงๆ สงสัยต้องไปดูการทำงานของแต่ละอย่างดู

Leave a comment